ส่วนบริการศุลกากรบางเสาธง สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ
Bang Sao Thong Customs Service Division
 

ความรู้เกี่ยวกับการนำเข้า

ลิงค์ที่น่าสนใจ

สถิติการเข้าชมเว็บ

  • 13 เข้าชมวันนี้
  • 520 เข้าชมเดือนนี้
  • 11,020 เข้าชมทั้งหมด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ :
ส่วนบริการศุลกากรบางเสาธง เลขที่ 102 หมู่ที่ 2 ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ 10540
หมายเลขโทรศัพท์ 02-3381425-36 ต่อ 131 โทรสาร : 02-3391447

ความผิดทางศุลกากร

ความผิดทางศุลกากร

ความผิดและโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469

ความ ผิดตามกฎหมายศุลกากรเป็นความผิดทางอาญาสาขาหนึ่งซึ่งจะต้องนำบทบัญญัติทั่ว ไปในภาค 1 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาใช้บังคับด้วย แต่ความผิดตามกฎหมายศุลกากรเป็นความผิดที่เกิดจากข้อห้าม (MALA  PROHIBITA) ในความผิดบางมาตรา การกระทำความผิด  ไม่ต้องมีเจตนาก็เป็นความผิด เช่น ความผิดตามมาตรา 27 และมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ส่วนความผิด   ตามมาตราอื่น ๆ คงเป็นไปตามหลักทั่วไปของความผิดทางอาญาคือต้องมีเจตนาถึงจะเป็นความผิด โดยความผิดตามกฎหมายศุลกากรสามารถแยกเป็นหมวดหมู่ได้ ดังนี้
 

1. ความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร
 
ความ ผิดฐานลักลอบหนีศุลกากร หมายถึง ความผิดที่เกิดจากการนำของเข้ามาในหรือนำออกไปนอกราชอาณาจักร โดยไม่ได้ผ่านทางท่า หรือที่ หรือสนามบินศุลกากรที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงให้เป็นท่า หรือที่ หรือสนามบินที่นำเข้า-ส่งออก หรือนำของเข้ามาตามช่องทางที่กำหนด แต่ผู้นำเข้าได้นำของออกจากอารักขาของศุลกากรโดยไม่ได้ยื่นใบขนสินค้า ชำระค่าภาษีอากร และผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ศุลกากรให้ถูกต้อง ในความผิดฐานลักลอบนี้ยังรวมถึงการย้ายถอนหรือช่วยเหลือให้ย้ายถอนของที่ยัง มิได้เสียภาษี ของต้องกำกัดหรือของต้องห้าม หรือของที่ยังมิได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องจากเรือกำปั่น ท่าเทียบเรือ คลังสินค้า ที่มั่นคง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร และรวมถึงผู้เกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆ ในการนำของที่ยังไม่ได้เสียภาษี ของต้องกำกัด ของต้องห้ามเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรด้วย การลักลอบนำของออกจาก คลังสินค้า เขตประกอบการเสรี หรือเขตปลอดอากรก็เป็นความผิดฐานนี้ด้วย
คำว่า ลักลอบหนีศุลกากร ตามหลักฐานได้กำหนดใช้ในสมัยพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา เป็นอธิบดีกรมศุลกากร โดยได้ตรากฎหมายเรียกว่า พระราชบัญญัติภายใน ร.ศ.111  มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรไว้ว่า   ถ้าผู้ใดขืนไม่แวะ ด่านภาษีหรือลักลอบเอาสิ่งของต้องภาษีล่วงเลยด่านตำบลที่กล่าวแล้วไป เจ้าพนักงานตรวจจับได้จะต้องปรับไหมครึ่งหนึ่ง ไม่เกินสี่เท่าราคาของที่ลักลอบหนีภาษี และสิ่งของที่ลักลอบหนีภาษีทั้งเรือและล้อเกวียน หรือภาชนะที่จะพาสิ่งของหนีภาษีโดยประโยคพยายามนั้นจะต้องริบเป็นของหลวง   ความผิดฐาน   ลักลอบหนีศุลกากร เป็นความผิดฐานหนึ่งในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 ได้กำหนดโทษสำหรับความผิดฐานนี้ไว้ให้ปรับสี่เท่าของราคาของรวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
 

2. ความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร

ความ ผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร หมายถึง ความผิดที่เกิดจากการนำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยการใช้กลอุบาย อำพราง ปกปิด ซ่อนเร้น หรือการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับเอกสารการนำเข้าหรือส่งออก โดยการสำแดงรายการของสินค้าที่นำเข้า หรือส่งออกเป็นเท็จไม่ตรงกับของหรือเอกสารการนำเข้า หรือกระทำการใด ๆ เพื่อไม่ต้องเสียภาษี หรือเสียภาษีน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเจตนาฉ้อค่าภาษีอากรของรัฐ นอกจากการหลีกเลี่ยงอากรโดยการสำแดงเท็จแล้ว ในความผิดฐานนี้ยังรวมถึงกรณีนำของที่ได้รับการยกเว้นอากรหรือลดหย่อนอากร โดยมีเงื่อนไขเข้ามาในราชอาณาจักร หากภายหลังการนำเข้า ผู้นำเข้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการยกเว้นหรือลดหย่อนอากร  ทำให้สิทธิการยกอากรเว้นอากร หรือลดหย่อนอากรสิ้นสุดลง ของนั้นจะต้องเสียภาษีอากร แต่ผู้นำเข้าไม่ได้แจ้งขอชำระค่าภาษีอากรภายในกำหนดเวลา ถือเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรด้วยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พุทธศักราช ๒๕๓๐ หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พุทธศักราช 2520 เป็นต้น  ความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากรนี้ เป็นความผิดฐานหนึ่งในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469
 

3. ความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อกำกัด ในการนำเข้า หรือส่งออก

ความ ผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ข้อกำกัด หมายถึง ความผิดที่เกิดจากการนำของที่มีกฎหมายห้ามนำเข้า หรือส่งออก  เข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำของที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องขออนุญาต หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด เข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยผู้นำเข้า หรือผู้ส่งออก ไม่ได้ขออนุญาต หรือไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของกฎหมายให้ครบถ้วน ความผิดฐานหลีกเลี่ยง  ข้อห้าม ข้อกำกัดนี้ เป็นความผิดฐานหนึ่งในมาตรา 27แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469

ของ ต้องห้าม หมายถึง ของที่กฎหมายกำหนดห้ามนำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร โดยเด็ดขาด ผู้ใดนำเข้า ส่งออกเป็นความผิดต้องรับโทษตามกฎหมายที่ห้ามนั้น ๆ และเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อห้าม ตามกฎหมายศุลกากร อีกบทหนึ่งด้วย ตัวอย่าง   ของต้องห้ามนำเข้า ส่งออก ได้แก่

          1. วัตถุลามก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287
          2. สินค้ามีตรา หรือลวดลายเป็นธงชาติ ตาม พ.ร.บ. ธง พ.ศ. 2522 
          3. ยาเสพติดให้โทษ ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 
          4. เงินตรา พันธบัตร เหรียญกษาปณ์ ใบสำคัญรับดอกเบี้ยพันธบัตรอันเป็นของปลอมหรือแปลง ตามประมวลกฎหมายอาญา
          5. สินค้าที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ (ฉบับที่ 94) พ.ศ. 2536      ลงวันที่ 21 เมษายน 2536 
          6. สินค้าปลอมหรือเลียนแบบเครื่องหมายการค้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการส่งสินค้าออกไปนอกและการนำสินค้าเข้ามาใน ราชอาณาจักร พ.ศ. 2530 ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2530 
          7. สิ่งพิมพ์ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไม่ให้นำเข้าโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ฯลฯ
  
ของ ต้องกำกัด หรือของควบคุมการนำเข้า-ส่งออก หมายถึง ของที่มีกฎหมายกำหนดว่าหากจะนำเข้ามา หรือส่งออกไป   นอกราชอาณาจักรต้องได้รับอนุญาต หรือต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของการนำเข้าส่งออกให้ครบถ้วน ตามที่กฎหมายนั้น ๆ กำหนดไว้ก่อน ผู้ใด  นำของต้องกำกัดเข้ามาใน หรือส่งออก โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ครบถ้วนถูกต้อง เป็นความผิดตามกฎหมายที่ควบคุมของนั้น ๆ และเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงข้อกำกัด ตามกฎหมายศุลกากรอีกบทหนึ่งด้วย

ใน ปัจจุบันมีสินค้าหลายประเภท หลายชนิดที่ถูกควบคุมมิให้นำเข้ามาในหรือส่งออก ไปนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องตรวจสอบจากกฎหมายนั้น ๆ ด้วยว่ากำหนดไว้ว่าอย่างไร ซึ่งมีประมาณ 100 ฉบับ เช่น พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน พ.ศ. 2485 พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 พระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ 2551 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
 

4. ความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469

ความ ผิดที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 27 คือความผิดตามมาตรา 31 มาตรา 36 มาตรา 96 มาตรา 97 ทศ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 และมาตรา 5  มาตรา 5 ทวิ ประกอบมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480 ความผิดตามมาตราข้างต้น              เป็นความผิดที่กำหนดให้นำบทบัญญัติของมาตรา 27 มาใช้บังคับ หรือให้นำเฉพาะโทษตามมาตรา 27 มาใช้บังคับ แล้วแต่กรณี
 

5. ความผิดฐานรับซื้อของหนีภาษีศุลกากรตามมาตรา 27 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469

ความ ผิดตามมาตรา 27 ทวิ นี้เป็นความผิดที่ต่อเนื่องจากความผิดตามมาตรา 27 กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดฐานนี้เป็นผู้ที่รับช่วงของต่อมาจากผู้ที่ได้กระทำความผิด ตามมาตรา 27 มาแล้วโดยผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่ยังมิได้เสียภาษี หรือของต้องจำกัด หรือของต้องห้าม หรือที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังไม่ได้ผ่านศุลกากรโดยถูกต้องก็ดี หรือเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ข้อจำกัด หรือข้อห้ามอันเกี่ยวแก่ของนั้นก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่ง ได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งปรับทั้งจำ
 

6. ความผิดฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469

ความ ผิดฐานนี้เป็นความผิดเกี่ยวกับเอกสารที่ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือตัวแทนต้องจัดทำ หรือรักษา หรือยื่น หรือตอบข้อซักถาม ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้ถูกต้องสมบูรณ์ตามความเป็นจริง การกระทำโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469 
 

7. ความผิดฐานขอคืนเงินอากรเป็นเท็จตามมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พุทธศักราช 2469

การ ขอคืนเงินอากรตามกฎหมายศุลกากรมีหลายกรณี แต่การขอคืนเงินอากรสำหรับสินค้าส่งออก หรือผลิตเพื่อส่งออกตามมาตรา 19 มาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ ๙) พุทธศักราช ๒๔๘๒ หากขอคืนโดยทุจริตก็จะเป็นความผิดฐานนี้ โดยถ้าของใด   ที่ขอคืนหรือได้อนุญาตคืนค่าภาษีแล้ว ได้บรรทุกลง เรือหรือนำไปยังทำเนียบท่าเรือ ท่าเทียบเรือ หรือที่อื่นเพื่อส่งออกไป และพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าของนั้นไม่ตรงตามใบขนสินค้า บัญชีบรรทุกสินค้า คำร้องขอ หรือเอกสารอื่นก็ดี หรือถ้าคำร้องขออันเกี่ยวแก่ของนั้นปรากฏว่าเป็นการทุจริตด้วยประการ ใดก็ดี ท่านให้ริบของนั้นเสียสิ้น กับทั้งหีบห่อและของสิ่งอื่นที่อยู่ในหีบห่อนั้นด้วย และบุคคลผู้ขออนุญาตส่งและขอคืน ค่าภาษีสำหรับของนั้น มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือสามเท่าของจำนวนค่าภาษีที่ขอคืน หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

8.  ความผิดฐานปฏิบัติพิธีการศุลกากรไม่ถูกต้อง

ความ ผิดในกลุ่มนี้ที่มีด้วยกันหลายมาตรา เนื่องจากการนำเข้า การส่งออก การเก็บ การขนย้าย การถ่ายของที่นำเข้า ส่งออก จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ครบถ้วน หากผู้นำเข้า ส่งออก หรือตัวแทนไม่ปฏิบัติ หรือปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามพิธีการที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นความผิดฐานปฏิบัติพิธีการศุลกากรไม่ถูกต้อง แบ่งออกได้  ดังนี้

(1) ความผิดเกี่ยวกับการเก็บของในโรงพักสินค้าที่มั่นคงหรือคลังสินค้าทัณฑ์บน
          ก. ผู้ใดบังอาจลอบเข้าไปในโรงพักสินค้าหรือที่มั่นคง หรือเอากุญแจซึ่งติดอยู่ ณ ที่นั้นออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรามาตรา 6 (2) 
          ข. ผู้ปกครองคลังสินค้าเลินเล่อไม่เก็บของในคลังสินค้าให้มีทางเข้าถึงหีบห่อของทุกห่อได้โดยสะดวก ตามมาตรา 90 
          ค. ผู้ปกครองคลังสินค้าไม่แสดงของที่เก็บไว้ในคลังสินค้า ในเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรเรียกร้อง ตามมาตรามาตรา 91 
          ง. ผู้ใดบังอาจลักลอบเปิดคลังสินค้า หรือล่วงเข้าไปถึงของที่อยู่ในคลังสินค้านั้น เว้นแต่จะได้เข้าไปต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ศุลกากรในเวลาทำการตามหน้าที่ ตามมาตรามาตรา 93

(2) ความผิดเกี่ยวกับการเก็บของในเขตปลอดอากร
การ นำของเข้า นำของออกจากเขตปลอดอากรต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข  ที่อธิบดีกำหนด โดยให้นำบทบัญญัติในหมวด 10 เรื่องเก็บของในคลังสินค้า และบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับกับการนำของเข้า การเก็บรักษา การส่งของออก การควบคุม การขนย้ายของในเขตปลอดอากร และอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยอนุโลม

(3) ความผิดเกี่ยวกับการขนถ่ายสินค้านอกเขตท่าหรือในเขตต่อเนื่อง 
          ก. การขนถ่ายของในทะเลนอกเขตท่า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 27 ตรี 
          ข. ความผิดที่กระทำในเขตต่อเนื่อง ตามมาตรา 37 ทวิ มาตรา 37 ตรี มาตรา 37 จัตวา

(4) ความผิดเกี่ยวกับเรือที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
          ก. นายเรือต้องกระทำการหรือปฏิบัติการบางอย่างเมื่อถึงด่านตรวจตามมาตรา 21 
          ข. การรายงานเรือเข้าตามมาตรา 38

(5) ความผิดเกี่ยวกับเรือที่เดินทางไปต่างประเทศ
          ก. เรือลำใดมีพนักงานศุลกากรหรือพนักงานอื่นของรัฐบาลอยู่บนเรือและออกเรือไป โดยพนักงานนั้น ๆ ไม่ยินยอมก็ดี หรือไม่ให้ความสะดวกแก่พนักงานนั้น ๆ ก็ดี ตามมาตรา 22 
          ข. เรือลำใดออกไปโดยมิได้รับใบปล่อยเรือหรือไม่ได้รายงานเรือออก ตามาตรา 49 
          ค. การยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือและคนโดยสาร ตามมาตรา 51 ให้นายเรือทุกลำซึ่งบรรทุกสินค้าขาออก ยื่นหรือจัดให้ตัวแทน ยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือ 
          ง. เรือไม่ได้รับใบเบิกร่องผ่านปากน้ำหรือไม่ได้บรรทุกของให้เสร็จก่อนเรือออกตามมาตรา 53 
          จ. เรือที่เตรียมจะออกแต่ไม่ได้ชักธงลา ตามมาตรา 57

(6) ความผิดเกี่ยวกับการค้าชายฝั่ง
          ก. บรรทุกของในทะเลลึกนอกเขตท่า หรือนอกพระราชอาณาเขตก็ดี แวะนอก พระราชอาณาเขต หรือเปลี่ยนทางเดินโดยมิได้มีพฤติการณ์อันมิอาจก้าวล่วงเสียได้มาบังคับให้ ต้องกระทำเช่นนั้นก็ดี หรือแวะนอกพระราชอาณาเขตแล้วมิได้แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบในทันใด ณ ท่าแรกก็ดี ตามมาตรา 66 
          ข. เรือออกจากท่าโดยไม่มีใบอนุญาตปล่อยสินค้าและปล่อยเรือให้เดินทางก็ดี หรือ   ไม่แสดงใบอนุญาตดังกล่าวภายใน  24 ชั่วโมงหรือก่อนเริ่มขนถ่ายสินค้า เมื่อเรือถึงท่าก็ดี ตามมาตรา 68 
          ค. เรือที่ได้รับใบอนุญาตคุ้มได้ทั่วไปไม่สงใบแจ้งความตามแบบที่กำหนดไว้ในใบ แนบ 12 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนเวลาที่เรือจะออก ตามมาตรา 69 
          ง. การขนของที่พึงต้องเสียอากรชั้นใน หรือของต้องจำกัด ออกจาเรือโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา 70 
          จ. ไม่มีสมุดบัญชีสินค้าประจำเรือ หรือไม่บันทึกรายละเอียดการเดินทางในสมุดนั้นตามมาตรา 71

(7) ความผิดเกี่ยวกับที่ทอดเรือภายนอก
          ก. ฝ่าฝืนข้อบังคับซึ่งได้กำหนดถึงเวลาและสถานที่เพื่อการขนถ่ายและบรรทุกสินค้า ณ ที่ทอดเรือภายนอก ตามมาตรา 72 
          ข. บรรทุกสินค้าลงเรือหรือขนถ่ายสินค้าออกจากเรือ ณ ที่ทอดเรือภายนอกก็ดี หรือ ณ ที่แห่งใด ๆ อันมิได้อนุมัติก็ดี โดยมิได้รับความยินยอมของอธิบดี ตามมาตรา 74 
          ค. ต้องยื่นบัญชีสินค้าสำหรับเรือแสดงสินค้าบรรทุกทั้งหมด และต้องชักธงลา ตามมาตรา 85
 

9. ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานทำการค้นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 18
 

10. ความผิดฐานอื่น ๆ

ความผิดฐานอื่น ๆ คือความผิดนอกจากที่กล่าวมาแล้วข้างต้น 
          ก. นายเรือต้องรับผิด ถ้าเครื่องหมาย ดวงตรา กุญแจ ซึ่งพนักงานศุลกากรได้จัดทำไว้แก่ของใด ๆ ในเรือ หรือที่ใด หากผู้ใดถอนไป หรือเปิดออก หรือหักต่อย หรือเปลี่ยนแปลงไปโดยจงใจ ตามมาตรา 15 
          ข. ผู้ใดขึ้นไปบนเรือเดินต่างประเทศขณะที่อยู่ในราชอาณาจักร โดยมิรับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 15 ทวิ 
          ค.  ผู้ใดไม่ยอม หรือขัดขวาง หรือพยายามขัดขวางต่อการตรวจค้นรถ เกวียน หรือยานพาหนะอื่น ๆ ซึ่งได้ใช้ หรือกำลังใช้เนื่องกับเรือกำปั้น หรือคลังสินค้า หรือโรงเก็บสินค้า หรือที่ขนของขึ้น หรือทำเนียบท่าเรือ หรือทางน้ำ หรือทางผ่านแดน หรือทางรถไฟ เพื่อให้ทราบว่ามีของลักลอบหนีศุลกากรหรือไม่ ตามมาตรา 19 
          ง. นายเรือมีความผิด ถ้าปรากฏว่าเรือลำใดอยู่ในเขตท่ามีสินค้าในเรือ และภายหลังปรากฏว่าเรือลำนั้นเบาลอยตัวขึ้นหรือ   มีแต่อับเฉา ซึ่งนายเรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ขนสินค้าขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 28 
          จ. ถ้าปรากฏว่าเรือลำใดมีที่ปิดบัง หรือพราง หรือเครื่องกลอุบายใด ๆ ทำขึ้นไว้เพื่อลักลอบหนีศุลกากร นายเรือจะต้องรับผิดถ้ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ได้ละเลย ไม่ระวังให้เข้มงวดตามควรที่จะป้องกัน หรือได้เกี่ยวข้องรู้เห็นด้วยในการสร้าง หรือทำ หรือวาง หรือใช้ที่หรือเครื่องกลอุบายนั้น  ตามมาตรา 29 
          ฉ. นายเรือมีความผิดถ้าปรากฏว่าเรือลำใด มีของเป็นหีบห่อ ซึ่งมีขนาด ชื่อลักษณะ  ขัดต่อกฎหมายศุลกากร หรือกฎหมาย หรือประกาศอื่น ตามมาตรา 30 
          ช. ถ้ามีความผิดฐานลักลอบหนีศุลกากรเกิดขึ้นเกี่ยวกับเรือซึ่งมีระวางบรรทุก เกินสองร้อยห้าสิบตันนายเรือจะมีความผิด    ถ้าไม่สามารถจะพิสูจน์ได้ว่า ตนได้จัดการเต็มวิสัยที่จะจัดได้ เพื่อที่จะสืบค้นให้พบและป้องกันเสียซึ่งการกระทำผิดนั้นแล้ว ตามมาตรา 33
 

11. ความผิดฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอธิบดี หรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 110 ตาม มาตรา 112 เอกูนวีสติ ตามมาตรา 113 ทวิ มาตรา 114 มาตรา 115 มาตรา 115 ทวิ มาตรา 115 ตรี มาตรา 115 จัตวา มาตรา 115 เบญจ มาตรา 119
 

12. ความผิดและโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2480

1. ห้ามมิให้ขนส่งตามทางใด ๆ นอกจากทางอนุมัติ หรือทางอนุมัติเฉพาะคราว หรือขนส่งในเวลาใด ๆ นอกจากเวลาที่อธิบดีกำหนดเว้นแต่ได้รับอนุญาตพิเศษ ตามมาตรา 5 5ทวิ ประกอบมาตรา 10

2. เรือที่ใช้ขนส่งตามลำน้ำไม่ได้จอดเทียบท่าซึ่งอธิบดีประกาศกำหนด เรือที่บรรทุกของเข้ามาทางลำน้ำที่เป็นเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างประเทศต้องเข้า มาจอดยังสถานที่ดีอธิบดีกำหนดตามมาตรา 6

3. ผู้ขนส่งของบรรทุกในยวดยานเข้ามาไม่ยื่นบัญชีสินค้าก็ดี ไม่ขนตามเส้นทางอนุมัติก็ดี ไม่ได้ขนย้ายด้วยยวดยานเดียวกันโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ดี ของที่ผู้ขนส่งเข้ามาทางบกต้องมีบัญชีสินค้า และยื่นแสดงต่อเจ้าหน้าที่ก่อนผ่านด่านพรมแดนเข้ามาตามมาตรา 7

4. ผู้ขนส่งของออกไปไม่ได้นำของให้ตรวจท่าด่านศุลกากรก็ดี ไม่ได้ยื่นใบอนุญาตหรือใบขนสินค้าที่เกี่ยวกับของนั้นต่อพนักงานประจำ ด่านพรมแดนก็ดี หรือไม่ทำบัญชีสินค้าซึ่งอธิบดีประกาศกำหนดเพื่อยื่นต่อด่านศุลกากร และด่านพรมแดนตามมาตรา 8   มาตรา 11 มาตรา 12

5. ผู้ควบคุมยวดยานใดๆ ไม่ยอมหยุดให้ตรวจภายในระยะ 50 กิโลเมตรจากเขตแดนทางบก ตามมาตรา 9
 

13. ความผิดและโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2480
 
1. ผู้ใดทำลายหรือเปลี่ยนแปลงตราหรือเครื่องหมายใด ๆ ซึ่งพนักงานศุลกากรต่างประเทศทำไว้ ตามมาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 
2. ผู้ใดขนของบรรทุกอากาศยานหลังจากได้ออกใบปล่อยอากาศยานแล้วโดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 8 
3. ผู้ควบคุมอากาศยานที่บรรทุกของมาแต่ภายนอกราชอาณาจักรไม่ได้ทำรายงาน  ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายใน 24 ชั่วโมง นับแต่เมื่ออากาศยานนั้นมาถึงสนามบินศุลกากรตามมาตรา 15 
4. ผู้ควบคุมอากาศยาน ที่ออกไปนอกราชาอาณาจักรไม่ได้ยื่นใบแจ้งความว่าจะออกไปต่างประเทศตามแบบที่ กำหนดก็ดี ไม่ได้ยื่นบัญชีของทั้งปวงที่บรรทุกตามแบบที่อธิบดีกำหนดก็ดี หรือมิได้มีใบปล่อยอากาศยานก็ดีตาม มาตรา 16 มาตรา 22 
 
14. ความผิดและโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497

1. ผู้ทำการค้าสินค้าชนิดที่อธิบดีประกาศกำหนดในเขตควบคุมศุลกากร ไม่จัดให้มีสมุดควบคุมตามแบบที่อธิบดีกำหนดก็ดี หรือไม่ลงรายการในขณะที่ได้รับและจำหน่ายสินค้าชนิดนั้นเป็นรายวันในสมุด นั้นก็ดีตามมาตรา 13 มาตรา 15 
2. ผู้ใดทำการขนสินค้าเข้าไปหรือออกมา หรือขนภายในบริเวณพิเศษในเขตควบคุมศุลกากร โดยไม่มีใบอนุญาตขนซึ่งพนักงานศุลกากรได้ออกให้ก็ดี หรือไม่แสดงใบอนุญาตขนนั้นเมื่อพนักงานศุลกากรเรียกร้องก็ดีตามมาตรา 14 มาตรา 16
 

15. ความผิดและโทษตามกฎหมายอื่น

1. ความผิดและโทษตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530
 พระ ราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากรเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยวิธีการจัดเก็บภาษีศุลกากร ซึ่งประกอบด้วยตัวบทกฎหมายที่เป็นแหล่งที่มาของอำนาจในการจัดเก็บภาษี ศุลกากร ประกอบไปด้วยตัวบท 18  มาตรา และภาคผนวกอีก 4 ภาคด้วยกัน ภาค 1 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากร ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า ภาค 3 พิกัดอัตราอากรขาออก และภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากร
ของ ที่นำเข้ามาโดยได้รับยกเว้นอากรหรือลดหย่อนอากรตามกฎหมาย หากต่อมาภายหลังสิทธิได้รับหย่อนอากรหรือยกเว้นอากรสิ้นสุดลง ผู้นำเข้าจะต้องแจ้งขอชำระภาษีอากรต่อกรมศุลกากรภายในกำหนด  30  วันนับแต่วันที่สิทธิ์ลดหย่อนอากรหรือยกเว้นอากรสิ้นสุดลง และต้องนำเงินค่าอากรมาชำระภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจำนวนค่าอากร หากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวโดยเจตนาฉ้อค่าภาษี ถือเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงอากร ตามมาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469  ตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 10 พ.ร.ก. พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 

2. ความผิดและโทษตามพระราชบัญญัติการส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 
 พระ ราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุนเป็นกฎหมายที่ใช้สิทธิประสิทธิทางด้านภาษีอากร และการเข้าเมือง เพื่อการลงทุนและพัฒนาประเทศ จึงไม่มีบทกำหนดโทษที่เป็นความผิดทางอาญาไว้โดยตรง คงมีแต่โทษที่เป็นการยกเลิกเพิกถอนสิทธิ์ประโยชน์ที่ได้รับเท่านั้น  แต่กรณีผู้ได้รับการส่งเสริมการลงทุนที่ถูกเพิกถอนสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร ไม่ชำระภาษีอากรภายในกำหนดตามมาตรา 55 วรรคสาม     ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาหรือส่งออกไปโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร และให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับตามมาตรา 55 ในกรณีที่คณะกรรมการสั่งเพิกถอนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรสำหรับของที่ นำเข้าหรือส่งออกทั้งหมด ให้ถือว่าผู้ได้รับการส่งเสริมไม่เคยได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ ต้นและให้ผู้ได้รับการส่งเสริมเสียภาษีอากรโดยถือสภาพของของ ราคา และอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าหรือส่งออกเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี อากร สำหรับกรณีที่ได้รับลดหย่อนภาษีอากร ให้เสียภาษีอากรเพิ่มจากที่ได้เสียไว้แล้ว ให้ครบถ้วน      ตามจำนวนเงินภาษีอากรที่จะพึงต้องเสียทั้งหมดเมื่อได้คำนวณตามเกณฑ์เช่นว่า นั้น

ใน กรณีที่คณะกรรมการส่งเพิกถอนสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรสำหรับของที่นำ เข้าหรือส่งออกบางส่วน ให้ถือว่าผู้ได้รับการส่งเสริมได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีอากรมาแต่ต้น เพียงเท่าที่ตนยังคงได้รับสิทธิและประโยชน์อยู่ และให้เสียภาษีอากรตามส่วนที่ได้    ถูกเพิกถอนจนครบถ้วน โดยถือสภาพของ ราคา และอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าหรือส่งออกเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษี อากร

ผู้ ได้รับการส่งเสริมต้องแจ้งขอชำระภาษีอากร หรือภาษีอากรเพิ่มต่อกรมศุลกากรหรือด่านศุลกากรที่ได้นำของนั้นเข้ามาหรือ ส่งของนั้นออกไปภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ เกี่ยวกับภาษีอากร และต้องชำระ ณ ที่ทำการศุลกากรซึ่งกรมศุลกากรกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งเดือนนับแต่วัน ที่ได้รับแจ้งจำนวนเงินภาษีอากรหรือภาษีอากรเพิ่มอันจะพึงต้องชำระ ถ้ามิได้มีการปฏิบัติเช่นว่านั้น ให้ถือว่าของนั้นได้นำเข้ามาหรือส่งออกไปโดยหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรและ ให้นำกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับ
 
3. ความผิดและโทษตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 
 พระ ราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิประโยชน์ทาง ภาษีอากรแก่ของที่นำเข้า ส่งออกฉบับหนึ่ง โดยได้กำหนดให้การนำเข้า ส่งออก การเก็บรักษา
 การควบคุม การขนย้ายของภายในเขตประกอบการเสรี ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการนำของเข้าส่งของออก พิธีการศุลกากร และการเก็บของในคลังสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรมาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งให้นำบทลงโทษตามกฎหมายศุลกากรมาใช้บังคับด้วยตามมาตรา 53

4. ความผิดและโทษตามพระราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร พ.ศ. 2524
พระ ราชบัญญัติชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรนี้เป็นกฎหมาย ที่ใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรสำหรับผู้ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักร โดยจ่ายเป็นเงินชดเชยในรูปของบัตรภาษี สามารถนำไปชำระค่าภาษีอากรต่าง ๆ ได้ กฎหมายดังกล่าวได้มีบทกำหนดโทษไว้สำหรับผู้ขอรับเงินชดเชยที่ทุจริตไว้  ตามมาตรา 30 ผู้ใดไม่ให้ถ้อยคำหรือไม่ส่งเอกสาร หรือหลักฐานแก่กรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติตามมาตรา 25 หรือขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่กรรมการ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับและมาตรา 31 ผู้ใดแจ้งความเท็จหรือให้ถ้อยคำหรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำ พยานหลักฐานเท็จมาแสดงกับคณะกรรมการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อให้มีการประกาศกำหนดอัตราเงินชดเชย หรือเพื่อให้มีการจ่ายเงินชดเชยให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นตามข้อความ ถ้อยคำหรือพยานหลักฐานอันเป็นเท็จนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี    หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือไม่เกินสี่เท่าของเงินชดเชยที่ขอหรือที่จ่าย ให้ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

 หากมีข้อสอบถามหรือข้อเสนอแนะประการใดโปรดติดต่อ
ส่วนคดี สำนักกฎหมาย กรมศุลกากร              
โทร 0 2667 7143 เมล์ 65030000@Customs.go.th
 

วันที่ปรับปรุงล่าสุด : 14 กรกฎาคม 2559 09:35:51
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : ส่วนบริการศุลกากรบางเสาธง
ส่วนบริการศุลกากรบางเสาธง
เลขที่ 102 หมู่ที่ 2 ตำบลบางเสาธง
อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ 10540
หมายเลขโทรศัพท์ : 02-3381425-36 ต่อ 131

ข้อมูลบนเว็บไซต์นี้ อยู่ภายใต้ประกาศเงื่อนไขการใช้ข้อมูล และลิขสิทธิ์ ของส่วนบริการศุลกากรบางเสาธง - สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ
ลิขสิทธิ์ ? 2015 ส่วนบริการศุลกากรบางเสาธง สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งหมด @ออกแบบและพัฒนาโดยส่วนประมวลผลและคลังข้อมูล สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรมศุลการ